top of page
433861012_380754174789755_285536843256630540_n_edited_edited_edited.jpg

Inspiration 

ดนตรีกับการ์ตูน ดนตรีกับนิทาน

The Walt Disney Company

 

       ถ้าเราพูดถึงเพลง Under the Sea, Let It Go, Beauty and the Beast หรือ A Whole New World แน่นอนว่าเสียงร้อง ทำนอง และบรรยากาศจากเพลงนั้นๆ จะทำให้คุณนึกถึงการ์ตูนเรื่องโปรดจากบ้านดิสนีย์ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นเพลงอมตะที่ใครๆ ก็นึกถึงหรืออาจจะฮัมตามได้ และความพิเศษของเพลงเหล่านี้ไม่ได้ทำให้เราจดจำแอนิเมชันเรื่องนั้นๆ ได้ แต่กลับซ่อนไว้ซึ่งวิธีการคิดและการทำงานที่ลึกซึ้ง มีชั้นเชิง แต่เรียบง่าย น่าสนใจ

 

      ตลอดระยะเวลาที่มีการแจกรางวัลออสการ์มากว่า 92 ปีนั้น มีเพลงจากดิสนีย์เข้าชิงในสาขา Best Original Song ถึง 34 ครั้ง และได้รับรางวัลถึง 11 ครั้ง ซึ่งในบางปีดิสนีย์สามารถส่งเพลงเข้าชิงในสาขานี้พร้อมๆ กันจากภาพยนตร์เรื่องเดียวกันได้ 2-3 เพลง เช่นในปี 1989 ที่ The Little Mermaid ส่งเพลง Under the Sea และ Kiss the Girl เข้าชิงในรางวัลเดียวกัน และแอนิเมชันจากดิสนีย์ 2 เรื่องที่เป็นสถิติเจ้าของผู้เข้าชิงสาขา Best Original Song สูงสุด 3 เพลงในปีเดียวกันคือ Beauty and the Beast (1991) และ The Lion King (1994) ซึ่งเพลงที่ได้เข้าชิงทั้งหลายก็คุ้นหูกันอยู่แล้ว โดยเฉพาะเรื่อง The Lion King ที่ได้เข้าชิงทั้งเพลง Can You Feel the Love Tonight, Circle of Life และ Hakuna Matata และผู้ชนะก็คือเพลงสุดโรแมนติกชื่อแรกนั่นเอง

     ไม่ใช่แค่ความสำเร็จในช่วงยุค 90 แต่ในปัจจุบันเองตั้งแต่ช่วงกลางยุค 2000 เป็นต้นมา ก็พบว่าเพลงจากแอนิเมชันของดิสนีย์เกือบทุกเรื่องมักได้เข้าชิงมาตลอด และยังได้รับการยอมรับให้เป็นผู้ครองรางวัลบ่อยครั้ง นั่นหมายความว่าเพลงดิสนีย์ยังคงมีอิทธิพลกับผู้ฟังและคณะกรรมการออสการ์อยู่เสมอ เช่น การได้รับชัยชนะของเพลง We Belong Together ของ Toy Story 3 (2010), Let It Go จาก Frozen (2013) และ Remember Me จาก Coco (2017) แต่ทั้งนี้อะไรคือสิ่งที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จเหล่านั้น และเพลงดิสนีย์มีสูตรอะไรที่ทำให้ผู้ฟังชื่นชอบ ทำไมออสการ์จึงรักพวกเขาเหลือเกิน

      เพลงพร้อมภาพ ภาพพร้อมเพลง คือหัวใจหลัก

หากพูดถึงเพลงดิสนีย์ ชื่อหนึ่งที่เราควรทำความรู้จักคือ อลัน เมนเคน นักประพันธ์เพลงที่อยู่เบื้องหลังบทเพลงดิสนีย์เหล่านั้น ตั้งแต่เรื่อง Beauty and the Beast, The Little Mermaid หรือ Aladdin สิ่งที่น่าสนใจที่สุดคือการทำงานของเขามักนึกถึงเพลงมาเป็นลำดับแรกๆ เสมอ ซึ่งเป็นโจทย์จากดิสนีย์ที่มักจะมอบให้เขาว่า ‘แอนิเมชันเรื่องต่อไปจะเล่าเรื่องของ…’ และเรื่องราวเหล่านั้นคือโจทย์ของการทำเพลงที่จะต้องเริ่มต้นจากโครงสร้างบทหลวมๆ ซึ่งเรื่องนี้จะถูกเล่าออกมาในเพลงแนวไหน และการสร้างเพลงของพวกเขาก็เริ่มต้นจากดนตรี จากนั้นค่อยใส่เนื้อ ก่อนจบที่การสร้างภาพวิชวลให้แก่เพลงนั้นๆ ฉะนั้นเมนเคนจึงต้องทำงานร่วมกับฝ่ายผลิตและสร้างซีนเหล่านั้นร่วมกันเพื่อให้ได้มาซึ่งการนำเสนอเรื่องราวที่ชัดเจน และมองเห็นภาพร่วมกันทั้งภาพและเพลง

 

     “เพลงที่ดีจะต้องทำงานร่วมกับภาพที่ดี นั่นจะทำให้ภาพยนตร์ทั้งเรื่องเป็นก้อนเดียวกัน”  เมนเคน กล่าวไว้กับสำนักข่าว ABC News ในสหรัฐอเมริกา

     แกะสูตรเพลงดิสนีย์

ถ้าถามว่าความมิวสิคัลทั้งหลายในเพลงของแอนิเมชันจากดิสนีย์มีที่มาจากไหน เราต้องย้อนกลับไปในวันที่เมนเคนเริ่มต้นเส้นทางดนตรีของเขา โดยรับหน้าที่ทำเพลงให้กับให้กับมิวสิคัลคอเมดี้เขย่าขวัญระดับโลกอย่าง Little Shop of Horrors และนั่นคือครั้งแรกที่สปอตไลต์ดวงโตส่องไปหาเขา หลังจากนั้นเขาก็พาความชอบส่วนตัวในเรื่องมิวสิคัลก้าวเข้ามาทำงานที่ดิสนีย์ และแน่นอนว่าคำดูถูกดูแคลนเกี่ยวกับแนวทางการทำเพลงของเขาก็เริ่มต้นขึ้น “ไม่มีใครเขามาสนใจแอนิเมชันที่มีมิวสิคัลหรอก” นั่นคือข้อความที่เขาเคยได้รับจากหลายต่อหลายคน แต่หลังจากที่เขาได้ทำเพลงให้กับ The Little Mermaid ในปี 1989 กลับกลายเป็นว่านี่คือภาพยนตร์ยอดฮิตที่ช่วยชีวิตบริษัทดิสนีย์ไว้หลังจากการสูญเสีย วอลต์ ดิสนีย์ ไปในปี 1966 ที่บริษัทกังวลถึงความยืดยาวของธุรกิจ นับจากนั้นมา The Little Mermaid จึงกลายมาเป็นสูตรสำเร็จของดิสนีย์และแอนิเมชันเรื่องต่อๆ มา

 

     จากการศึกษาของเว็บไซต์ Soundfly ที่ศึกษาเรื่องเพลงดิสนีย์อย่างเข้มข้นจากการนำเพลงที่ดิสนีย์มีอยู่ทั้งหมดมาวิเคราะห์ บวกกับผลการศึกษากว่า 80% พบว่าเพลงดิสนีย์มักจะใช้คีย์เมเจอร์ รองลงมาจะเป็นคอร์ดไมเนอร์ และคอร์ดทางบลูส์ร็อก ซึ่งนั่นก็ไม่น่าแปลกใจ เพราะด้วยเรื่องราวของแอนิเมชันทั้งหลายที่เล่าเรื่องของความสุข การพบรัก ก็ต้องเป็นเพลงที่สว่างไสว ให้ความรู้สึกดีที่ล้นปรี่หัวใจ ส่วนตัวละครร้ายๆ ทั้งหลายในโลกของดิสนีย์ก็มักจะได้รับเพลงที่อยู่ในคีย์ไมเนอร์ พ่วงด้วยโน้ตชาร์ปและแฟลต เพื่อความแตกต่างที่ดูชัดเจน

 

     “เพลงต้องมีเมโลดี้และจังหวะที่ติดหู ต้องเหมาะสมกับตัวละครและสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะความสุข การเฉลิมฉลอง ความเศร้า ความเจ็บปวด ความตลก หรืออะไรก็ตาม” เมนเคนกล่าว

 

     สิ่งหนึ่งที่จะขาดไม่ได้ในเพลงของดิสนีย์ก็คือ ‘การเปลี่ยนคีย์’ อย่างกะทันหัน ทั้งนี้ก็เพื่อการปรับเปลี่ยนอารมณ์ไปตามตัวละครในสถานการณ์นั้นๆ เปลี่ยนลงบ้าง เปลี่ยนขึ้นบ้าง ในปีนี้เพลงอย่าง Into the Unknown ของแอนิเมชัน Frozen 2 เองก็ได้เข้าชิงสาขา Best Original Song ด้วย ซึ่งก็มิวายที่จะมีสูตรเพลงเป็นแบบที่ว่า โดยเฉพาะการเปลี่ยนคีย์ในช่วงหลังฮุกที่สอง เพื่อให้รู้สึกถึงเรื่องราวที่กำลังจะเปลี่ยนไป ซึ่งทั้งหมดที่ว่ามานั้นก็ล้วนมีสูตรของความไพเราะในสไตล์มิวสิคัล เมโลดี้ และเรนจ์การร้องที่กว้างมากเช่นกัน

     เพลงบางเพลงก็ไม่ได้ใหม่

ทิม เพจ เจ้าของรางวัลพูลิตเซอร์สาขาการวิพากษ์ดนตรี ทั้งยังเป็นอาจารย์สอนเกี่ยวกับดนตรีและสื่อมวลชนที่ University of Southern California ในสหรัฐอเมริกา เคยกล่าวถึงความเกี่ยวโยงและความ ‘คล้ายคลึง’ กันของเพลงดิสนีย์ไว้ว่า “ถึงแม้มันจะดูใหม่ แต่จริงๆ แล้วมันไม่ใช่เพลงใหม่ และไอเดียของการทำเพลงดิสนีย์คือการทำให้ผู้ชมรู้สึกสบายใจเหมือนก้าวเท้าลงไปแช่น้ำอุ่นๆ ในอ่าง” นอกจากนี้เขายังมีความรู้สึกอีกว่าเพลงทั้งหลายนี้มีเสียงที่คล้ายคลึงกัน ซาวด์ที่คล้ายกัน และอยู่ในบรรยากาศและสถานการณ์ที่รู้สึกอุ่นใจเหมือนกัน แต่สิ่งที่ไม่เหมือนคือเมโลดี้ของเพลงต่างหากที่ทำให้เพลงแตกต่างกันออกไป

 

     ความกลมกล่อมทั้งหมดนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเขียนเนื้อ การเรียบเรียง และการสร้างดนตรีให้สอดคล้องกับเรื่องราว สถานการณ์ และความรู้สึก ประหนึ่งเป็นอีกตัวละครที่ช่วยชูโรงให้แอนิเมชันน่าสนใจ ล้วนเป็นจุดแข็งที่ทำให้บทเพลงของดิสนีย์ยังคงได้รับความสนใจจากเวทีออสการ์และผู้ชมอยู่เสมอจวบจนถึงปัจจุบัน

Studio Ghibli

     จุดเริ่มต้นของสตูดิโอผลิตแอนิเมชันที่มีชื่อเสียง และ ได้รับการยอมรับเป็นอย่างมากที่มีชื่อว่า ‘สตูดิโอจิบลิ’ นั้นเราคงต้องย้อนกลับไปในปี 1963 ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ ‘ฮายาโอะ มิยาซากิ’ ได้พบกับ ‘อิซาโอะ ทาคาฮาตะ’ ที่สตูดิโอผลิตแอนิเมชันที่ชื่อว่า ‘Toei Doga’ ในขณะนั้นฮายาโอะเป็นแอนิเมเตอร์ฝึกหัดที่เปี่ยมด้วยความฝันที่จะสร้างสรรค์ผลงานดีๆ ส่วนทาคาฮาตะนั้นก็เป็นแอนิเมเตอร์รุ่นพี่ที่เข้ามาทำงานก่อนเพียง 4 ปี

     ช่วงทศวรรษที่ 60 เป็นยุคที่แอนิเมชันญี่ปุ่นมีการเปลี่ยนแปลงอยู่อย่างหนึ่ง ด้วยเหตุผลทางด้านต้นทุน และ ระยะเวลา ทำให้สตูดิโอต่างๆ เริ่มหันมาผลิตการ์ตูนขนาดสั้นเป็นตอนๆ สำหรับฉายในทีวี แทนที่จะผลิตการ์ตูนขนาดยาวฉายในโรง ซึ่ง Toei Doga เองก็ไม่ต่างกัน จึงเริ่มผลิตการ์ตูนยาว 86 ตอนจบ ชื่อ Wolf Boy Ken (1963) ออกมาเป็นเรื่องแรก โดยมี ฮายาโอะ และ ทาคาฮาตะอยู่ในทีมงานผลิตด้วย

     ทั้ง 2 คนทราบดีถึงข้อจำกัดข้างต้น ซึ่งทำให้ไม่สามารถสร้างสรรค์ผลงานได้อย่างที่ใจต้องการ จึงต้องเก็บความฝันที่จะสร้างผลงานคุณภาพ ที่ไม่เพียงแต่มีความสมจริงด้านการสร้าง แต่ยังต้องแสดงอารมณ์ความรู้สึกเชิงลึกของมนุษย์ที่มีทั้งสุข และ เศร้าออกมาได้ จนมาถึงเหตุการณ์สำคัญในอีก 20 ปีถัดมา ที่แอนิเมชันเรื่อง Nausicaä of the Valley of the Wind (1984) ประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูง ทำให้ทั้งคู่ตัดสินใจร่วมกันตั้งสตูดิโอผลิตแอนิเมชันแห่งใหม่ โดยใช้ชื่อว่า ‘สตูดิโอจิบลิ’

     คำว่า จิบลิ (Ghibli) ออกเสียงว่า จิ-บลิ หรือ จิ-บุ-ริ ในภาษาญี่ปุ่น มีความหมายว่า ‘ลมร้อนที่พัดผ่านผืนทะเลทรายซาฮาร่า’ ซึ่งเป็นศัพท์ที่นักบินชาวอิตาลีเอาไว้ใช้เรียกเครื่องบินสอดแนมของตัวเองในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยฮายาโอะนำมาตั้งชื่อสตูดิโอของตัวเองด้วยเหตุผล 2 ประการ นั่นคือ

  1. ความหลงใหลในเครื่องบินเป็นการส่วนตัว

  2. เปรียบเทียบให้รู้ว่า สตูดิโอแห่งนี้ จะเป็นเหมือนลมแรงที่พัดกระหน่ำวงการแอนิเมชันญี่ปุ่นให้สั่นสะเทือน


(Joe Hisaishi) โจ ฮิซาอิชิ

      ‘ภาพยนตร์’ และ ‘ดนตรี’ ทั้งสองสิ่งนี้ใช้ภาษาร่วมกัน ซึ่งเป็นภาษาสากลที่สามารถเข้าถึงความคิดและความรู้สึกของผู้คนโดยไม่มีคำต้องอธิบายใด หากลองจินตนาการถึงภาพยนตร์ ‘Spirited Away’ ที่ไม่มีท่วงทำนองของเพลง ‘One Summer’s Day’ เป็นฉากหลังแล้ว เราแทบจะมองไม่ออกเลยว่าภาพยนตร์จะเปลี่ยนไปมากน้อยแค่ไหน สิ่งนี้การันตีได้อย่างชัดเจนถึงความสำคัญของเพลงประกอบภาพยนตร์ที่มีส่วนอย่างมากต่อการดำเนินเรื่อง สื่อความรู้สึกตัวละคร และส่งผลถึงอารมณ์ของผู้ชม

      บทเพลงมากมายจากแผ่นเสียงของพ่อ คือจุดประกายเส้นทางสายดนตรีให้แก่นักประพันธ์เพลงชั้นครูชาวญี่ปุ่นที่สร้างชื่อเสียงระดับโลกอย่าง โจ ฮิซาอิชิ (Joe Hisaishi) พรสวรรค์ด้านดนตรีของเขาเฉิดฉายตั้งแต่อายุได้เพียง 5 ปี ฮิซาอิชิเก็บเกี่ยวคลังความสนใจด้านดนตรีจากศิลปินและนักประพันธ์เพลงจากหลากหลายแนว ขณะที่เรียนอยู่วิทยาลัยดนตรี Kunitachi เขาค้นพบความหลงใหลในดนตรีแนวมินิมอลของ Philip Glass และ Steve Reich หลังจากเรียนจบ เมื่อเขาได้ก้าวเข้าสู่โลกของดนตรี เขาก็ตั้งมั่นในทางสายนี้ และเริ่มต้นอาชีพด้วยการประพันธ์เพลงร่วมสมัยตั้งแต่นั้นมา

ฮิซาอิชิเปิดตัวอัลบั้มแรกของเขาในชื่อ ‘MKWAJU’ ในปี 1981 และอัลบั้มที่สอง ‘Information’ ในปีถัดมา เพลงของเขาสร้างความประทับใจให้แก่ ฮายาโอะ มิยาซากิ เป็นอย่างมาก จนได้รับการทาบทามจาก อิซาโอะ ทาคาฮาตะ ซึ่งขณะนั้นเขาเป็นโปรดิวเซอร์ให้แก่ภาพยนตร์เรื่อง Nausicaä of the Wind Valley (1984) จนกลายเป็นจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์อันยาวนานระหว่างเขาและ Studio Ghibli

     เพลงของฮิซาอิชิปรากฏอยู่เบื้องหลังภาพยนตร์แอนิเมชันแทบทุกเรื่องของฮายาโอะ มิยาซากิ เสมือนเป็นปอดที่ช่วยหล่อเลี้ยงลมหายใจให้แก่มิยาซากิเลยก็ว่าได้ เพลงของเขาปรากฏในภาพยนตร์ดังมากมายอย่าง Howl's Moving Castle, My Neighbor Totoro, Princess Mononoke, Ponyo และ Spirited Away

ในระหว่างการทำงานร่วมกัน มิยาซากิจะอธิบายสิ่งที่เขาต้องการให้กับฮิซาอิชิฟังอย่างจริงใจ หลังจากนั้น ฮิซาอิชิก็จะเริ่มทำความเข้าใจกับสตอรี่บอร์ดของมิยาซากิอย่างละเอียด เขาใช้ธีมของเรื่องเป็นที่ตั้ง เพื่อทำให้เพลงประกอบภาพยนตร์สามารถสื่อสารสิ่งที่ผู้กำกับต้องการไปถึงผู้ชมให้ได้มากที่สุด

     ฮิซาอิชิได้รับแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์เพลงประกอบภาพยนตร์แอนิเมชันให้สตูดิโอจิบลิจากกระแสการประพันธ์ดนตรีแบบอิมเพรสชั่นนิสต์ โดยเฉพาะจากศิลปินที่ชื่อ Claude Debussy เพลงเหล่านี้มักเต็มเปี่ยมไปด้วยชีวิตชีวาและความหวังที่ช่วยปลอบประโลมผู้คน ซึ่งเป็นหนึ่งในธีมหลักที่สตูดิโอจิบลิมักพูดถึงในภาพยนตร์ ทุกครั้งที่เราได้ยินเสียงเพลงของฮิซาอิชิ ภาพความงดงาม เรียบง่าย และเต็มเปี่ยมไปด้วยจิตวิญญาณในหนังของจิบลิก็มักจะลอยมาควบคู่กันเสมอ

    หากเพลงโดดเด่นกว่าภาพจนเกินไป ก็อาจทำให้ผู้ชมได้รับสารที่ผู้กำกับต้องการจะสื่ออย่างไม่ครบถ้วน ฉะนั้นการหลอมรวมกันระหว่างเพลง ภาพ และตัวเรื่อง ให้กลายเป็นภาษาเดียวกันคือภาษาของภาพยนตร์ จึงมีความสำคัญและมีผลอย่างมากต่อความเข้าใจและความรู้สึกของผู้ชมเป็นอย่างมาก ซึ่งฮิซาอิชิทำออกมาได้อย่างสมบูรณ์แบบ เมื่อเหล่าเด็ก ๆ ได้ชมภาพยนตร์ของจบลิที่มีบทเพลงของฮิซาอิชิคลออยู่เบื้องหลัง พวกเขาก็จะรู้สึกสนุกตามไปด้วย ในขณะเดียวกัน เมื่อผู้ใหญ่ได้ยินเพลงของฮิซาอิชิ ความทรงจำอันแสนงดงามและล้ำค่าก็จะปรากฏขึ้นตรงหน้าเช่นกัน

บทเพลงที่มิยาซากิและฮิซาอิชิได้สร้างขึ้นร่วมกัน คือความประทับใจที่ครอบคลุมทุกความรู้สึก ทำให้เพลงและหนังของพวกเขากลายเป็นสิ่งที่อยู่คู่กัน การฟังเพลงของ Ghibli ทุกครั้งจึงทำให้เราหวนนึกถึงบรรยากาศของหนังและมีอารมณ์ร่วมไปกับความทรงจำของเราเสมอ

© 2023 by Site Name. Proudly created with Wix.com

bottom of page